ประวัติ [1] ของ พระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ)

พระญาณวิศิษฏ์ หรือ หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2475 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ณ พื้นเพเดิมครอบครัวเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ต่อมาครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ ณ ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 และอดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม โดยได้รับสถาปนาตำแหน่งสืบต่อจาก พระเทพโมลี (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) ในชีวิตวัยเยาว์ของท่าน ท่านศึกษาจบชั้นเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านทำนาหาเลี้ยงปากท้อง

บรรพชา อุปสมบท

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2494 ขณะมีอายุได้ 19 ปี ณ วัดป่าคลองกุ้ง ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 21 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. 2496 ก่อนย้ายไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาแก้ว ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

ปฏิบัติธรรม

ผู้ที่คอยชี้ทางส่งเสริมให้ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน คือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) หรือท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ นั่นเอง[2] หลวงพ่อทอง ได้ศึกษาวิชาความรู้จากท่าน ถึงแม้ว่าท่านจะเคยศึกษาวิชาบาลีที่กรุงเทพ ฯ มาแล้วก็ตาม จนมาถึงปี พ.ศ. 2500 ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านสันกอเก็ด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 3 ปี กระทั่งท่านพ่อลีได้มรณภาพลง ท่านจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดอโศการาม และท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอโศการามระหว่างปี พ.ศ. 2534 - 2559 ในด้านพระธรรม หลวงพ่อทองท่านมักจะเน้นเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และท่านก็เคยกล่าวไว้ว่า การฝึกธรรมมะ ต้องรู้จักการฝึกความอดทนไว้ก่อน และต้องมีสติด้วย เพราะมนุษย์ ไม่มีจุดยืนในความคิด ชอบใช้สติปัญญาของตนไปตัดสินโดยการสังหารกิเลสของตนเอง เมื่อสมาธิเป็นสมถะจิตจะบังเกิดความสงบ อย่างบางคนบอกอะไรอนิจจัง อะไรไม่เที่ยง อะไรก็อยู่ไม่ได้ อะไรแตกดับ ทำไมไม่ถึงวิปัสสนา เพราะใจมันยังไม่มีสมถะ ใจมันไม่นิ่ง ใจมันส่ายไปมา พอใจหยุดนิ่ง สิ่งที่เห็นคือพระ สิ่งที่เห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นจากดวงตา สิ่งที่มันเกิดคือผู้รู้แท้ ถ้ารู้ใจเจ้าของคือผู้รู้ตน ใจก็อยู่ที่ใจ ไม่ใช่เอาใจไปไว้ที่หัวหรือบนผม รู้จักที่มาที่ไป ไม่ใช่ไปรู้ตามหนังสือที่เขียน แล้วก็หอบสังขารไป” พระอาจารย์ทองท่านเป็นนักเทศน์ธรรมมะรูปหนึ่ง ที่ติดรับกิจนิมนต์ตลอดเวลา และเป็นศูนย์รวมใจของชาวชุมชนโดยมิเสื่อมถอย วัดอโศการามแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันร่มเย็นสำหรับเป็นที่พักพิงแก่มวลสรรพสัตว์ฉันใด พระอาจารย์ทองก็เป็นธงธรรมให้ร่มเงาจิตใจแก่ชาวบ้านญาติโยมฉันนั้น

สรีระสังขารพระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จันฺทสิริ) ก่อนการพระราชทานเพลิงศพ ณ.วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ